Monday, December 8, 2014

ยาสำหรับผู้สูงอายุ

ยาสำหรับผู้สูงอายุ

ปัจจุบันผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น สวนทางกับอัตราการเกิดใหม่ของเด็กที่นับวันจะน้อยลงเรื่อยๆ เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นจริงในประเทศที่พัฒนาแล้ว รวมถึงประเทศไทยของเราด้วย
ผู้สูงอายุล้วนเป็นผู้ที่อุทิศ ทุ่มเท อุตสาหะ ทำงานสร้างโลกใบนี้ตั้งแต่วัยรุ่นจนกระทั่งเกษียณอายุ พร้อมทั้งได้รับตำแหน่ง “ผู้สูงอายุ” (จะชอบหรือไม่ก็ได้สิทธิ์นั้นทันที) จึงเป็นหน้าที่ของพลโลกทั้งมวล ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชายวัยใดก็ตาม ที่จะต้องช่วยกันดูแลผู้สูงอายุเหล่านี้อย่างดีที่สุด เสมือนเป็นการตอบแทนผู้มีพระคุณที่เคยบากบั่นทำงาน สร้างโลก และเลี้ยงดูพลโลกรุ่นหลังให้เติบใหญ่ช่วยตัวเองได้ และรับช่วงต่อจากท่าน

อายุมากขึ้น ร่างกายเริ่มเสื่อมถอย
เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น พอถึงจุดหนึ่งก็จะเริ่มเสื่อมถอยตามความแก่ชราของร่างกาย สิ่งที่สังเกตได้ชัดเจนคือสายตาที่เริ่มจะมองภาพได้ไม่ชัดเหมือนตอนหนุ่มสาว และติดตามมาด้วยอวัยวะต่างๆ เช่น ข้อเข่า หัวใจ หลอดเลือด ไต

ถึงแม้ว่าการเสื่อมถอยเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่ก็มีหลายคนยังสามารถรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง และทำงานได้ดีกว่าผู้สูงอายุวัยเดียวกัน เรียกว่าไม่เสื่อมถอยเอาเสียเลย ย่อมแสดงถึงการดูแลสุขภาพทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจได้เป็นอย่างดีเยี่ยม จนเกิดแนวคิด “smart elderlys” หรือ “ผู้สูงอายุที่สมาร์ต” เพื่อให้ได้ “ผู้หลักผู้ใหญ่ที่เป็นมิ่งขวัญของลูกหลาน” สามารถช่วยตัวเองได้เป็นอย่างดี และไม่เป็นภาระกับคนรุ่นหลัง ถึงแม้ว่าอายุจะล่วงเลยไปมากแล้วก็ตาม

สิ่งที่ช่วยให้มีผู้ใหญ่ที่สมาร์ต ก็ด้วยหลัก “๔ อ” อันได้แก่ อาหาร อารมณ์ ออกกำลังกาย และอากาศ ที่ได้รับการดูแลเอาใจใส่มาตั้งแต่วัยหนุ่มสาว จึงส่งผลให้อายุยืนยาว แข็งแรง และปลอดโรค

อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ก็จะมีการเสื่อมของอวัยวะต่างๆ มากบ้าง น้อยบ้าง ตามหลักของธรรมชาติ

การเสื่อมของร่างกาย... ที่มาของหลายโรค
การเสื่อมของร่างกายในผู้สูงอายุที่พบบ่อย ได้แก่ สายตา มือ ฟัน ตับ ไต สมอง หลอดเลือด ฯลฯ
การเสื่อมของอวัยวะเหล่านี้ บางครั้งก็ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตและการทำงาน (เช่น การเสื่อมถอยของสายตา และมือ) แต่ก็มีหลายๆ ครั้งที่การเสื่อมของอวัยวะ ทำให้เกิดโรคขึ้นได้ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โดยเริ่มจากเป็นโรคใดโรคหนึ่งก่อน และอีก “หลายโรค” ก็ตามมาเป็นคณะ ซึ่งเป็นโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หาย

หลายโรค... หลายหมอ... หลายยา
เมื่อมี “หลายโรค” เข้ามารุมเร้า ทำให้ต้องไปรับการรักษาโรคกับหมอหลายคนตามความชำนาญเฉพาะด้าน และอาจเรียกว่า “หลายหมอ” ตามมาด้วยการได้รับยาหลายชนิดเพื่อรักษาโรคที่เป็นอยู่ เรียกว่า “หลายยา”
สรุปได้ว่า สิ่งที่มักจะอยู่คู่กับผู้สูงอายุ ก็คือ “หลายโรค หลายหมอ หลายยา”
การที่ผู้ป่วยต้องใช้ยาหลายชนิดล้วนเป็นภาระสำหรับผู้ใช้ยาทั้งสิ้น ทั้งปัญหาจากการใช้ยาและภาระค่าใช้จ่าย ซึ่งเรื่องนี้กับคนปกติก็เป็นปัญหาหนักอยู่แล้ว ยิ่งเป็นผู้สูงอายุด้วยปัญหาจะมากขึ้นเป็นทวีคูณ และรอคอยการดูแลช่วยเหลือจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างดีที่สุด
ปัญหาจากการใช้ยาที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ ได้แก่ ไม่ใช้ยาตามสั่ง ใช้ยาซ้ำซ้อน เกิดผลข้างเคียงจากยา และยาตีกัน

ปัญหาการไม่ใช้ยาตามสั่ง
ผู้สูงอายุอาจไม่ได้ใช้ยาตามสั่ง อันเนื่องจากการหลงลืมว่าได้ใช้ยาไปหรือยัง หรือเบื่อการใช้ยาที่มีจำนวนมาก หรือหยุดการใช้ยาเมื่อไม่มีอาการแล้ว จะด้วยปัญหาอะไรก็ตาม ถ้าส่งผลให้ผู้สูงอายุไม่ได้ใช้ยาตามแพทย์สั่งแล้ว ก็จะส่งผลให้โรคเรื้อรังที่เป็นอยู่ไม่สามารถควบคุมให้อยู่ในระดับที่ดีได้ เกิดการลุกลามทำลายอวัยวะต่างๆ ตามการลุกลามของโรค จนทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน รักษาได้ยาก และเป็นอันตรายต่อชีวิตได้

ปัญหาเรื่องนี้ อาจแก้ด้วยการเริ่มสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้ป่วยกับผู้ให้การรักษา จนเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน ตามด้วยการอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจแผนการรักษาและการใช้ยาของแพทย์ รวมถึงการย้ำเตือนเป็นระยะ ถึงความสำคัญของการใช้ยาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อควบคุมอาการของโรคไม่ให้ลุกลามและเกิดภาวะแทรกซ้อน เป็นปัญหาใหญ่โตต่อไป ซึ่งอาจให้ญาติพี่น้องลูกหลานใกล้ชิดคอยจัดยาและเตือนให้ใช้ยาตามสั่ง

ปัญหาการใช้ยาซ้ำซ้อน
การใช้ยาซ้ำซ้อน เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุที่เป็นหลายโรค หาหลายหมอ และใช้ยาหลายอย่าง
การใช้ยาซ้ำซ้อนนี้อาจจะด้วยความหวังดีของหมอที่ให้การรักษา ตัวอย่างเช่น นาย ก. เป็นโรคความดันโลหิตสูง และปวดข้อเข่า เมื่อไปหาหมอเรื่องปวดข้อเข่า หมอจ่ายยาแก้ปวดแก้อักเสบข้อเข่าให้ และไปพบหมอที่ดูแลเรื่องความดันโลหิตสูง เมื่อหมอรู้ว่ามีอาการปวดข้อเข่าด้วย ก็ให้ยาปวดข้อเข่ามาอีก
ตัวอย่างนี้ นาย ก. จึงได้ยาแก้ปวดและอักเสบข้อเข่าจากหมอทั้ง ๒ คน ทำให้ใช้ยาซ้ำซ้อน
ดังกรณีของนาย ก. นี้ หลังจากที่ผู้ป่วยได้ใช้ยาแก้อักเสบข้อเข่าจากหมอทั้ง ๒ คนไประยะหนึ่ง ก็จะเกิดการระคายเคืองกระเพาะอาหาร เนื่องจากยาเหล่านี้มีฤทธิ์เป็นกรดระคายเคืองทางเดินอาหาร และอาจลุกลามทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร และมีเลือดออกในทางเดินอาหารได้
ปัญหานี้แก้ไขได้ด้วย “การจดบันทึกรายการยาที่ใช้อยู่ ทั้งที่ใช้เป็นประจำและที่ใช้เป็นครั้งคราว” และเมื่อใดที่ไปพบแพทย์ เภสัชกร หรือหมออนามัย ควรนำบันทึกรายชื่อยาทั้งหมดที่ใช้อยู่นำไปแสดงด้วย จะได้ช่วยตรวจสอบและแก้ปัญหาการใช้ยาซ้ำซ้อน

การใช้ยาซ้ำซ้อน... เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยา
ผู้สูงอายุบางครั้งจะไวต่อการเกิดอาการอันไม่พึงประสงค์ได้ง่ายกว่าวัยอื่น ที่พบบ่อยๆ เช่น ยาลดความดันโลหิตสูง ที่มีฤทธิ์ลดความดันโลหิตลง จนบางครั้งทำให้เกิดอาการหน้ามืด วิงเวียนศีรษะ โดยเฉพาะเวลาเปลี่ยนอิริยาบถจากการนอนนานๆ หรือนั่งนานๆ แล้วลุกขึ้นยืน หากลุกขึ้นยืนเร็วเกินไปก็จะทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่ทัน เกิดอาการหน้ามืด วิงเวียนศีรษะ เป็นลมล้มลง จนอาจทำให้เกิดอันตรายรุนแรงได้

ปัญหานี้ ผู้ป่วยหรือญาติควรสอบถามกับแพทย์ เภสัชกร หรือหมออนามัย ทุกครั้งที่ได้รับยาใหม่ว่า “ยาชื่ออะไร ใช้รักษาโรคใด มีวิธีใช้อย่างไร ข้อควรระวัง และมีผลข้างเคียงที่พบบ่อยๆ อย่างไร” เพื่อจะได้ระวัง และหมั่นสังเกตความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นได้หลังจากใช้ยา
นอกจากนี้ หากผู้ป่วยมีประวัติแพ้ยา ก็ควรจดบันทึกและแจ้งผู้สั่งจ่ายยาทราบทุกครั้ง เพื่อหลีกเลี่ยงอาการแพ้ยาได้

ปัญหาเรื่องยาตีกัน
จริงๆ แล้วปัญหานี้ดูคล้ายกับการใช้ยาซ้ำซ้อน... แต่ไม่ใช่ เป็นการใช้ยาซ้ำซ้อน แต่เป็นการใช้ยาตามปกติเพื่อรักษาโรค หากมีจำนวนมากขึ้น ก็จะมีโอกาสเสี่ยงให้เกิดยาตีกันได้ หรือบางครั้งปัญหายาตีกัน อาจเกิดจากยาสามัญประจำบ้าน อาหาร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร
การป้องกันและแก้ปัญหานี้คือ การจดบันทึกยาทุกชนิดไปแสดงให้กับแพทย์หรือเภสัชกรทราบ เพื่อตรวจสอบ “ยาตีกัน” หากเกิดขึ้นจะได้หลักเลี่ยงทันที
ถึงตอนนี้คงทราบปัญหาการใช้ยาที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ และแนวทางง่ายๆ ในการจัดการกับปัญหาเหล่านี้ได้เป็นอย่างดีแล้ว

ป้องกันผู้สูงอายุได้รับอันตรายจากการใช้ยา
จากการศึกษาวิจัยการใช้ยาในผู้สูงอายุ จึงขอเสนอให้เฝ้าระวังผู้สูงอายุที่มีลักษณะดังนี้เป็นพิเศษ ได้แก่
๑. ผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวตามลำพัง
๒. ผู้สูงอายุที่ใช้ยาตั้งแต่ ๓ ชนิดขึ้นไป (รวมถึงยาสามัญประจำบ้าน สมุนไพร และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร)
๓. ผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องความจำ หลงๆ ลืมๆ
๔. ผู้สูงอายุที่ไปหา “หลายหมอ”
การดูแลการใช้ยาของผู้สูงอายุ จากญาติพี่น้องและลูกหลาน เป็นการช่วยเหลือทั้งการไปพบแพทย์ ช่วยจดจำ บันทึกวิธีการปฏิบัติตัวของผู้ป่วย ขั้นตอนการใช้ยา ที่จะต้องจัดเตรียมยาและ/หรือการป้อนยาแก่ผู้ป่วย ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ป่วยได้ใช้ยาตามแพทย์สั่ง จะได้ผลการรักษาที่ดีมีประสิทธิภาพ เกิดความปลอดภัย และประหยัด

ที่มา:  http://www.doctor.or.th/article/detail/15474